ประเด็นท้าทาย เรื่อง พัฒนาสมรรถนะครูในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วย“ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ”
1.สภาพปัญหา
จากการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิการเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ที่ต้องให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับตัวในมิติสังคมที่เปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่าทักษะแห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21 ได้ถูกผลักดันเขา้สู่ระบบการศึกษาในหลายประเทศ ทั่วโลก ซึ่งการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องยึดหลักผลลัพธ์ทั้งในแง่ของความรู้ในวิชาแกนและทักษะแห่งศตวรรษใหม่เป็นผลลัพธ์ที่ประเทศ โรงเรียน สถานที่ทำงาน และชุมชนต่างเห็นคุณค่าทักษะแห่งศตวรรษ ที่ 21 จะช่วยเตรียมความพร้อมให้นักเรียนรู้จักคิด เรียนรู้ ทำงาน แก้ปัญหา สื่อสาร และร่วมมือทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลไปตลอดชีวิต (Bellanca & R. Brandt, 2011) ตลอดจนในเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์พื้นฐาน คือการจัดการศึกษาให้คนในชาติเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุขตามปฏิญญาว่าด้วยการจัดการศึกษาของ UNESCO โดยในศตวรรษที่ 21 ทุกประเทศได้มีการพัฒนาและใช้หลักสูตรการศึกษาที่มีเป้าหมาย ให้นักเรียนได้ Learn to know, Learn to be, Learn to do เพื่อคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในฐานะพลเมืองของชาติ และ Learn to live together เพื่อคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในฐานะพลโลก และพบว่าในปัจจุบัน การศึกษามีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การแพทย์ การเกษตร สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม การพัฒนาการศึกษาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกันอาทิ ด้านการบริหารการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการนิเทศการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังนั้น การสอนของครูจึงเป็นภารกิจสำคัญ เนื่องจากการสอนของครูที่มีคุณภาพย่อมก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางด้านวิชาการ และส่งผลดีต่อตัวผู้เรียน กระบวนการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายดังกล่าวนั้นคือการนิเทศการศึกษา
การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา การปรับปรุงการให้บริการทางการศึกษาทั้งในทางตรงและทางอ้อม ช่วยให้การจัดการเรียนรู้ของครูมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลซึ่งส่งผลโดยตรงแก่ผู้เรียน ครูควรได้รับการนิเทศเพื่อพัฒนาทางด้านงานวิชาการ การจัดการเรียนรู้ สามารถกระตุ้นและเป็นแนวทางในการนำความคิดใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับครู ภายในโรงเรียน เป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดความแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แก่ครู อาจทำได้โดยการจัดให้มีการอบรมด้านวิชาชีพ พัฒนาหลักวิชาความรู้มีความเชื่อมั่นในการสอน มีประสบการณ์ในการจัดทำ และใช้สื่อวัสดุอุปกรณ์การสอน พัฒนาทัศนคติในการทำงานปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ เข้าใจเทคนิคการประเมินผล การนิเทศการศึกษาที่ประสบผลสำเร็จจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทุกฝ่ายจะร่วมมือกันในการพัฒนาตนเองตามศักยภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน
การนิเทศในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการนิเทศที่เกิดจากความสมัครใจ ของครูผู้สอนในการที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตนตามเป้าหมายที่กำหนด ผ่านการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่อยู่ในบริบทการเรียนรู้เดียวกัน และส่งเสริมการสร้างบรรยากาศของการพัฒนาวิชาชีพครูที่มีการเกื้อกูลกันและกันอย่างเป็นมิตร โดยมีผู้สอนงาน (coach) ซึ่งเป็นผู้รู้ที่เข้ามาส่งเสริมความรู้และฝึกฝนทักษะที่สัมพันธ์กับเป้าหมายที่ผู้สอนต้องการพัฒนาก่อนการสอน ทำการสังเกตการสอน และกระตุ้นให้ครูผู้สอนวิเคราะห์ และสะท้อนผลการปฏิบัติการสอนของตนเองจนสามารถพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตนได้ตรงตามเป้าหมาย และมีพี่เลี้ยง(mentor) เป็นผู้คอยสนับสนุน ส่งเสริม ให้กำลังใจตลอดกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้สอน สามารถพัฒนาบทเรียน ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การนิเทศในศตวรรษที่ 21 ยังต้องมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา ช่วยสนับสนุนให้การนิเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อความต้องการ ของผู้รับการนิเทศ โดยเฉพาะระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ทางการศึกษาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในขั้นตอนต่างๆของการนิเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การให้คำปรึกษาการเสนอแนะแหล่งการเรียนรู้ และการนิเทศออนไลน์ ซึ่งช่วยทำให้ผู้นิเทศสามารถติดตามพัฒนาการของผู้สอนได้อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง กระบวนการนิเทศดังกล่าวข้างต้นจะช่วยพัฒนาทักษะการสะท้อนคิด การประสานความร่วมมือ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของผู้สอน อันจะนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การนำแนวคิดกระบวนการสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) และการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนิเทศ จึงช่วยพัฒนา คุณภาพการจัดการเรียนการสอน อันจะส่งผลถึงการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
ด้วยความตระหนักในความสำคัญดังกล่าวข้างต้น กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 กำหนดให้มีการดำเนินการด้านการนิเทศการจัดการเรียนรู้ส่งเสริม และพัฒนาทางด้านวิชาการให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนของสถานศึกษาในสังกัด ได้แก่ การส่งเสริมศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของครูยุคใหม่ ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา และครูให้สามารถพัฒนาผู้เรียน และการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้จัดทำในฐานะศึกษานิเทศก์ กลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาทั้งด้านการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน และคุณภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนโยบาย/การดำเนินงาน/ปัญหาของเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเน้นกระบวนการปฏิบัติร่วมกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศทุกระดับ ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงและ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของผู้รับ การนิเทศในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ และผลการทดสอบระดับชาติให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดต่อไป
2.วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล
ขั้นตอนที่ 1 สร้างบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน ( S : Shared values and norms) ในการจัดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยการวางแผน (Planning) สู่การปฏิบัติจริง มอบหมายงานในการจัดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การปฏิบัติจริง
กิจกรรม สนทนากลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาคุณภาพผู้เรียนรายบุคคล เพื่อศึกษาสภาพที่เป็นจริง นำไปสู่ความคาดหวังที่ต้องการให้เกิด เป็นบรรทัดฐานและค่านิยมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 ของครูผู้สอนร่วมกัน สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
ขั้นตอนที่ 2 การปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนร่วมกัน (C : Collective focus on student learning) โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Action) ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ผู้เรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21
กิจกรรม
1) ครูร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไข นักเรียน กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา
2) ครูร่วมกันออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ออกแบบการวัดและประเมินผล ที่ใช้ในการแก้ปัญหาตามผลการวิเคราะห์ปัญหาผู้เรียน
3) ครูร่วมกันประเมินผลการออกแบบหน่วยการเรียน แผนการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ เครื่องมือวัดและประเมินผล โดยมีศึกษานิเทศก์เป็นพี่เลี้ยงให้การชี้แนะ
ขั้นตอนที่ 3 การร่วมมือรวมพลัง (C : Collaboration) สร้างข้อตกลงร่วมกัน ในการนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปใช้ปฏิบัติการสอนจริง (Action) ตามที่ได้ออกแบบร่วมกัน
กิจกรรม
1) ขั้นวางแผน
(1) จัดทำแผนการนิเทศร่วมกับครูผู้สอน ตามตารางสอนของโรงเรียน
(2) กำหนดประเด็นการนิเทศร่วมกัน ตามประเด็นการพัฒนาคุณภาพ ผู้เรียนของครูแต่ละคนตามที่ได้ออกแบบไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้
(3) ครูร่วมกันสร้างข้อตกลง ในการนิเทศการสอนในแต่ละครั้ง
2) ขั้นปฏิบัติ ครูนำหน่วยการเรียนรู้บูรณาการสู่การปฏิบัติจริงตาม กระบวนการ Five Steps For Learning
(1) ขั้นตั้งคำถาม (ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน) Q: Learn to Question
(2) ขั้นประสบการณ์ (ขั้นทำกิจกรรม) S: Learn to Search
(3) ขั้นสร้างความรู้ C: learn to Construct
(4) ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนสรุปความรู้ C: Learn to Communicate /
(5) ขั้นประยุกต์พัฒนาต่อยอดความรู้สู่สังคม S: Learn to Service
ขั้นตอนที่ 4 การเปิดรับการชี้แนะการปฏิบัติงาน ( E : Expert advice and study visit) เป็นการติดตามตรวจสอบประเมินผล โดยการสังเกตการสอน (Observation)
กิจกรรม
1) การสังเกตการสอน โดยผู้นิเทศภายใน ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูฝ่ายวิชาการ เพื่อนร่วมงาน
2) การสังเกตการสอนจากผู้นิเทศภายนอก ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ และคณะกรรมการนิเทศตามคำสั่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2
ขั้นตอนที่ 5 การสนทนาที่มุ่งสะท้อนผลการปฏิบัติงาน (Reflection dialogue) โดยการสอนสะท้อนผลการสังเกตการสอน (Reflection) เป็นการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ทราบผลการนำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้จากการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ไปใช้สอนจริง
กิจกรรม
1) การสอนสะท้อนผลการสังเกตการสอน ครูผู้สอนร่วมกันสะท้อนผลการ สังเกตการสอนประเด็นที่ครูผู้สอนทำได้ดี และประเด็นที่นักเรียนเกิดการเรียนรู้
2) ครูผู้สอนร่วมกันสะท้อนผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ตนเองและแนวทางการปรับปรุงแก้ไข โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รายบุคคลและกลุ่มย่อย เพื่อร่วมกันอภิปรายถึงปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานของครูให้มีประสิทธิภาพ นำไปพัฒนาในวงรอบต่อไป
3) สรุปผลการดำเนินงานแนวทางการนิเทศการจัดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วย“ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ”
(1) ผลที่เกิดกับครู ความสามารถการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 สู่การปฏิบัติจริงตามกระบวนการของ Five Steps ของครูผู้รับการนิเทศ
(2) ผลที่เกิดกับผู้เรียน นักเรียนมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และ ความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อครูผู้สอน
(3) ความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศ ด้านรูปแบบการนิเทศ ด้านกระบวนการ PLC : Professional Learning Community และด้านผลการปฏิบัติงาน
3.ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง
3.1 เชิงปริมาณ
3.1.1 ร้อยละ 80 ของครูผู้สอนได้รับการพัฒนาให้สามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs)
3.1.2 ร้อยละ 80 ของผู้บริหารมีการติดตาม นิเทศ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs)สม่ำเสมอ
3.1.3 ร้อยละ 80 ของสถานศึกษามีวิธีปฏิบัติที่ดี (best practice) ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs)
3.2 เชิงคุณภาพ
3.2.1 ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs)
3.2.2 ผู้บริหารมีการติดตาม นิเทศ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs) สม่ำเสมอ
3.2.3 สถานศึกษามีวิธีปฏิบัติที่ดี (best practice) ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs8Cs)